Guestpost โฟสฟรี ถ้าคุณมีสาระดีๆ ที่นี่เราให้คุณได้แบ่งปัน

Notifications
Clear all

พระกำแพง "ซุ้มกอ" ทุ่งเศรษฐี

1 Posts
1 Users
0 Likes
140 Views
pensuda
(@pensuda)
Posts: 2475
Noble Member
Topic starter
 

scaled

นอกเหนือจากยอดพระเครื่องพิมพ์ "สมเด็จ" ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งได้สร้างไว้ที่วัดระฆังแล้ว ในอาณาจักรพระเครื่องยังมีพระยอดนิยมอีกพิมพ์หนึ่ง ซึ่งรุ่งโรจน์สกาวแสงอยู่เวลานี้ก็คือ "พระกำแพงซุ้มกอ" หรือ "เจ้าพ่อแห่งทุ่งเศรษฐี" ยอดพระนำโชคให้ลาภ ในระดับยอดขุนพลของพระกรุเมืองกำแพงเพชรทีเดียว!
กำแพงเพชรเมื่อในอดีต

จากซากวัตถุโบราณบางชิ้นแสดงให้รู้ว่า กำแพงเพชร เมื่ออดีตนั้น คงเป็นส่วนหนึ่งที่ ขอม เข้ามามีอำนาจปกครองอยู่ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 1890 พระยาเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย ได้โปรดให้ฟื้นฟูบูรณะเมืองกำแพงเพชรขึ้นใหม่พร้อมกับพระราชทานนามว่า นครชุม แล้วยกให้เป็นเมืองลูกหลวงควบคู่กันไปกับ ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร แม้จะมีชื่อใหม่ในยุคนั้นว่า นครชุม แล้วก็ตาม ชาวเมืองก็ยังคงเรียกว่า ชากังราว หรือ นครชุม ตลอดมาจนถึงสมัยอยุธยา ในแผ่นดินของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงได้กลับมาเรียกเมือง 2 ชื่อนี้ใหม่อีกครั้งว่า กำแพงเพชร และได้กันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

เมือง กำแพงเพชร นี้ได้ประมาณกันว่ามีอายุกว่า 700 ปี ขึ้นไป นับเป็นเมืองหน้าด่านที่ต้องเผชิญกับภัยสงครามตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมา จนถึงสมัยกรุงธนบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 1926-2317 นับเป็นพายุสงครามที่สร้างความบอบช้ำให้กับกำแพงเพชร ในช่วงนั้นไว้มิใช่น้อย

ก่อนหน้าที่จะเรียกกันว่า กำแพงเพชร นั้น ปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. 1900 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ พระมหาธรรมราชาลิไทย ครองราชย์อยู่นั้น พระองค์นับเป็นกษัตริย์องค์เดียวของกรุงสุโขทัย ที่ทรงฝักใฝ่การพระศาสนามากกว่าด้านการทหาร

และในช่วงระยะ พ.ศ. 1900 ดังกล่าวนี้เอง กำแพงเพชร นับว่าเป็นเมืองสำคัญยิ่งนัก ทั้งนี้ก็เพราะ พระพุทศาสนา ได้เจิดจ้าขึ้นอย่างคาดไม่ถึง จากศิลาจารึกหลักที่ 3 ได้แสดงให้รู้ว่า พระมหาธรรมราชาลิไทย ได้เสด็จไปสถาปนาพระบรมธาตุ, ปลูกพระศรีมหาโพธิ์, และยังได้บำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับการพระศาสนาไว้ ณ ที่ นครชุม นั้นอีกเป็นอันมาก

นอกจากนั้น กำแพงเพชร จากตำนานยังได้กล่าวไว้ว่า เมืองนี้ได้เคยเป็นที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกต, และพระพุทธสิหิงค์อีกด้วย

ณ จังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบันนี้ ถ้ามองจากตัวจังหวัดพุ่งสายตาข้ามลำน้ำปิงไปทางทิศนะวันตกก็จะพบกับผืนแผ่นดินั่นนั้น ซึ่งเมื่อครั้งอดีต คือ นครชุม แต่ปัจจุบันนี้เป็น ตำบล ซึ่งรู้จกกันทั่วไปว่า ทุ่งเศรษฐี อาณาจักรของพระเครื่องที่โงดังในด้านโชคลาภมหานิยมยิ่งนัก

และที่ฝั่งลำน้ำปิง ซึ่งใกล้กับปากคลองสวนหมากฝั่งนครชุมนั้นเอง จะปรากฏ วัดพระบรมธาตุ อารามหลวงที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไทย กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงในรัชกาลที่ 5 ได้เป็นผู้สถาปนาพระบรมธาตุ ไว้เมื่อ พ.ศ. 1900 นอกจากนั้น ที่ลานทุ่งเศรษฐียังปรากฏโบราณสถานที่รกร้างเหลืออยู่บ้าง, กับที่เป็นเนินดินไม่ปรากฏซากปรักหักพังเสียก็มาก คงมีแต่ชื่อวัดที่สำคัญ เช่น วัดพิกุล, วัดฤาษี, วัดทุ่งเศรษฐี, วัดน้อยบ้านไร่, วัดเจดีย์กลางทุ่ง ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ ประมาณว่าได้กำเนิดขึ้นยุคเดียวกัน โดยอยู่ที่ลานทุ่งเศรษฐีทั้งสิ้น นอกจากนั้น วัดสำคัญที่กำเนิดในสมัยเดียวกันแต่อยู่ฝั่งจังหวัดก็มีเช่น วัดอาวาสน้อย, วัดอาวาสใหญ่, วัดช้างล้อม,วัดกำแพงงาม, วัดสี่อิริยาบถ, วัดเชิงหวาย, วัดช้าง, วัดป่ามืด, วัดพระแก้ว, วัดพระนอน, วัดกะโลทัย, วัดพระธาตุ และวัดนาคเจ็ดเศียร ฯลฯ เป็นต้น

ปฐมเหตุที่ทำให้พบกรุกำเนิดอันเป็นที่มาของพระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ นั้น ก็ด้วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ แห่งวัดระฆังฯ ได้ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2392 ท่านได้อ่านศิลาจารึกที่วัดเสด็จ ก็พบว่าที่เมืองกำแพงเพชรนี้ ยังมีโบราณสถานและพระบรมธาตุอยู่ทางฝั่งตะวันตก ซึ่งได้สร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 1900 พระยากำแพง เจ้าเมืองเดิมจึงบุกป่าสำรวจตามแผ่นศิลาจารึกนั้น ก็พบพระเจดีย์ 3 องค์ องค์ใหญ่เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุไว้ด้วย ต่อมา พระยาตะก่า จึงได้ขอปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ทั้ง 3 นั้น โดยรวมเข้าเป็นองค์เดียวกันแล้วสร้างเป็นแบบศิลปพม่า แต่พระยาตะก่าได้สิ้นชีวิตเสียก่อนจะปฏิสังขรณ์เสร็จต่อมา พะโป้ และ นางทองย้อย จึงได้ทำการสร้างต่อจนสำเร็จในที่สุด

ในปัจจุบันนี้เหนือลำน้ำแม่ปิงขึ้นไปบนฝั่งนครชุมวัดที่จะยังคงอยู่ก็แต่ วัดพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพระเครื่องกรุแรกเท่านั้น และจากคราวท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ได้อ่านศิลาจารึกและพ่อเมืองกำแพงเพชรได้ไปสำรวจพบพระเจดีย์จน พระยาตะก่า และ พระโป้ ได้ขอบูรณปฏิสังขรณ์เสียใหม่ในครั้งนั้นนั่นเอง เมื่อทำการรื้อเจดีย์ก็ได้พบพระพุทธรูปและพระเครื่องมากมายอยู่ในเจดีย์นั้นทั้งยังเป็นที่ประจักษ์อีกว่า ผู้สร้างพระเจดีย์ทั้ง 3 องค์นั้น ได้เป็นผู้นำพระบรมธาตุจากลังกามาบรรจุไว้อีกด้วย นั่นก็คือ พระมหาธรรมราชาลิไทย กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยนั่นเอง พระเครื่องที่พบทั้งหมดจาการปฏิสังขรณ์คราวนั้นจึงมีอายุ 600 กว่าปีขึ้นไป

ส่วนพระเครื่องที่ขึ้นจากกรุวัดพระบรมธาตุครั้งนั้นก็มี พระซุ้มกอ, พระเม็ดขนุน, พระพลูจีบ, พระซุ้มยอ พระเชยคางข้างเม็ด,พระท่ามะปราง, พระฝักดาบเนื้อว่านหน้าทอง-เงิน, พระกำแพงขาโต๊ะ, พระกำแพงขาว, พระนาคปรก, พระเม็ดมะรื่น,พระนางพญากำแพง, พระกลีบบัว, พระกำแพงห้าร้อย, พระกำแพงเรือนแก้ว, พระเปิดโลก, พระกลีบจำปา, พระเม็ดมะเคล็ด, พระสาม, พระเชตุพน, พระงบน้ำอ้อย, และพิมพ์อื่น ๆ มากกว่าร้อยพิมพ์ทีเดียว ทั้งนี้ยังปรากฏว่าพระแผงเช่นพระนารายฯทรงปืน, พระซุ้มกระรอกกระแต, พระสาม พระปางมหาปาฏิหาริย์ ก็ได้รวมอยู่ในกรุนี้ขึ้นมาอีด้วยเช่นกัน

จากการอ่านศิลาจารึก ที่วัดเสด็จจนเป็นผลให้นำไปสู่กรุพระเครื่องมหึมาและได้พบพระบรมธาตุด้วยแล้ว ยังได้พบแผ่นลานเงินจารึกอักษรขอม เป็นตำนานกล่าวไว้ว่า ตำบลเมืองพิษณุโลก, เมืองกำแพงเพชร, เมืองพิชัย, เมืองพิจิตร, เมืองสุพรรณ, ว่ามีฤาษี 11 ตน ฤาษีเป็นใหญ่ 3 ตน ฤาษีพิลาลัยตนหนึ่ง ฤาษีตาไฟตนหนึ่ง, ฤาษีตาวัวตนหนึ่ง ซึ่งเป็นประธานฤาษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่าเราทั้งหลายนี้จะเอาอันใดให้แก่พระศรีธรรมาโศกราช ฤาษีทั้ง 3 จึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่าเราจำทำด้วยฤทธิ์ ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทองไว้ฉะนี้ ฉลองพระองค์จึงทำเป็นเมฆพัตรอุทุมพร เป็นมฤตย์พิศย์อายุวัฒนะ พระฤาษีประดิษฐ์ไว้ในถ้ำเหวใหญ่น้อย เป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลายสมณชีพราหมณาจารย์ไปถ้วนทั่ว 5000 พรรษา พระฤาษีองค์หนึ่งจึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่าท่านจงไปเอาว่านทั้งหลายอันมีฤทธิ์เอามาให้ได้ 1000 เก็บเอาเกสรดอกไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิจึงป่าวร้อยเทวดาทั้งปวงให้มาช่วยกันบดยา ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่งทำเป็นเมฆพัตรสถานหนึ่ง ฤาษีทั้ง 3 องค์นั้นจึงบังคับฤาษีทั้งปวงให้เอาว่านทำเป็นผงเป็นก้อน ถ้าผู้ใดได้ถวายพระพรแล้วจึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด ให้ระลึกถึงพระฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิด ฯลฯ

ยังมีข้อความที่พระฤาษีได้กล่าวอุปเท่ห์ไว้อีกมาก ถ้าหากท่านได้ทราบเรื่องราวข้อความจารึกจากแผ่นลานทองที่ได้จากพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณแล้ว บางท่านก็อาจจะสงสัยว่า ข้อความที่แปลจากใบลานทองดังกล่าว กับใบที่พบจากกรุพระปรางค์เมืองสุพรรณนั้น ช่างมีข้อความที่ออกจะไม่ต่างไปกว่ากันเลยละก้อ ขอให้นึกเสียว่า นั่นเป็นเรื่องราวที่ต่างก็ เล่ากันว่า... แล้วก็ยังมีการคัดลอกข้อความกันต่อ ๆ มาอีกเป็นทอด ๆ โดยจะจริงเท็จประการใดก็หาหลักฐานมาพิสูจน์ไม่ได้เลย

จากเรื่องราวดังได้กล่าวไปแล้ว จึงพอสรุปได้ว่าพระเครื่องในสกุลทุ่งเศรษฐีที่กำเนิดขึ้นระยะแรก โดยพระมหาธรรมาราชาลิไทยเป็นผู้สร้างไว้นั้น เมื่อ พ.ศ. 2524นี้แล้ว พระทุ่งเศรษฐีซึ่งพบครั้งแรกที่วัดพระบรมธาตุนั้น บัดนี้ได้แตกกรุออกมาเป็นเวลาถึง 132 ปีแล้ว และนับตังแต่ปีที่ได้สร้างพระ พ.ศ. 1900 พระทุ่งเศรษฐีกรุปฐมฤกษ์ก็จะมีอายุถึง 624 ปีแล้วด้วยเช่นกัน

ศิลปะ สืบ สมัย

พระเครื่องซึ่งพบที่จังหวัดกำแพงเพชร ไม่ว่าจะเป็นของพระเครื่องของกรุปฐมฤกษ์ วัดพระบรมธาตุ อันเป็นปราการด่านแรกของพระกรุทุ่งเศรษฐี หรือจากกรุอื่น ๆ ในบริเวณทุ่งฯ หรือแม้แต่กระทั่งกรุฝั่งเมืองกำแพงเพชรปัจจุบันนี้ก็ตาม ในจำนวนพระเครื่องเหล่านั้นทั้งหมด ศิลปที่ปรากฏประมาณ 70% จะแสดงออกตามจินตนาการของช่างสุโขทัย ซึ่งจะมีทั้งศิลปสุโขทัยยุคต้น ยุคกลางและยุคปลาย โดยเฉพาะศิลปสุโขทัยแบบกำแพงเพชรมากที่สุด นอกจากนั้น พระอีกประมาณ 30% เราจะเห็นว่า ศิลปะ จะมีส่วนสัมพันธ์กันถึง 4 สมัย เช่นพระเครื่องบางองค์เป็นแบบ สุโขทัย แต่รับเอาอิทธิพลของศิลป เชียงแสน ผสมเข้าไว้ และบางองค์ก็รับอิทธิพลของศิลป อู่ทอง สัมพันธ์ร่วมไว้อย่างอลังการ แม้กระทั่งศิลป ลพบุรี ก็ยังเข้ามามีอำนาจอยู่ในพระเครื่องเมืองนี้อยู่ด้วยเช่นกัน

ก็ด้วยเหตุนี้เอง จากการพบกรุพระในลานทุ่งเศรษฐีนั้น บางครั้ง กลับมีผู้ได้พระเครื่องศิลปแบบอยุธยายุคต้นก็มี นั่นย่อมแสดงให้รู้ว่า สมัยราชวงศ์พระร่วงได้เสื่อมลงไปแล้ว ศิลปย่อมสืบสมัยต่อมาโดยไม่สิ้นสุด เมื่อสมัยอยุธยารุ่งโรจน์ ศิลปะ ของสมัยนั้นย่อมเข้ามามีอิทธิพลแทนที่ในระยะต่อมา

ดังนั้น นักเลงพระ ที่ชาญฉลาดเขามักจะสังเกต ศิลปะ ที่เกี่ยวโยงกัน ซึ่งจะสามารถบอกให้รู้ถึงอายุของพระได้ หรือสังเกต เนื้อ ก็จะบอกให้รู้ถึงความเก่า-ใหม่ และถ้าทราบประวัติศาสตร์ไว้บ้างก็จะเป็นส่วนหนึ่งให้เราได้รู้ว่าพระ ทุ่งเศรษฐี นี้ มิใช่จะมีแต่พระศิลปแบบสุโขทัยเสมอไปก็หาไม่

เพราะจากคำว่า กำแพงเพชร หมายถึง ปราการที่แข็งแกร่ง รู้จักกันดีอยู่ในสมัยอยุธยา ส่วน นครชุม นั้นอยู่ในสมัยสุโขทัย และ ชากังราว ต่างก็เข้าใจว่า อาจเป็นระยะหนึ่งที่อยู่ในความปกครองของขอม ดังนั้นจึงเป็นของแน่เหลือเกินที่อาจมีผู้ได้พระเครื่องศิลปแบบลพบุรี จากลานทุ่งเศรษฐีนี้ไว้บ้างก็ได้

และบัดนี้ผู้เขียนจะขอนำท่านไปพบกับ ขุนพล แห่ง ขบวนการทุ่งเศรษฐี ซึ่งเป็นพระเครื่องที่ให้กำเนิดโดยพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย กษัตริย์ผู้ฝักใฝ่พระศาสนา มากกว่าการสงครามได้ดังต่อไปนี้

พระกำแพง ซุ้มกอ ทุ่งเศรษฐี
พระกำแพงซุ้มกอ เป็นยอดพระเครื่องอันดับ 1 จากลานทุ่งเศรษฐี พิมพ์ที่นิยมกันมากได้กับพระซุ้มกอชนิดที่มีลายกนก ที่นิยมรองลงมาได้กับ พระกำแพงซุ้มกอดำ ซึ่งพระพิมพ์นี้จะไม่มีลวดลายกนกปรากฏรวมอยู่ในองค์พระไว้เลย

พระกำแพงซุ้มกอ เป็นพระเครื่องปางสมาธิแบบ ขัดราบ ประทับนั่งบนฐานบัวเล็บช้างห้ากลีบ ด้านข้างทั้งสองขององค์พระใกล้ ๆ กับพระกรนั้นจะปรากฏลวดลายกนก 4 ขดม้วนตัววิ่งขึ้นไปบรรจบกับพระรัศมี ที่เป็นเส้นแฉกวิ่งจากประภามณฑล ที่ปรากฏ ที่ปรากฏล้อมรอบพระเศียรองค์พระซุ้มกอไว้อีกชั้นหนึ่ง อย่างอลังการไว้ทุกองค์

พระยอดมหาโชคมหาลาภพิมพ์นี้ เป็นพระเครื่องเนื้อผง ผสมด้วยดินกับมวลสารที่รวมตัวเป็นองค์พระเครื่องนั้น จะมีว่านร้อยแปด โดยเฉพาะว่านดอกมะขาม จะต้องปรากฏให้เห็นตามผิวองค์พระ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระเนื้อทุ่งเศรษฐีไว้ทุกๆ องค์ นอกจากนั้นก็มีทรายเงิน, ทรายทอง, และผงเกสรดอกไม้ร้อยแปดรวมอยู่ด้วย จึงทำให้พระกำแพง ซุ้มกอ กว่า80% เนื้อจะนุ่มอ่อนตัวกว่าคล้ายกับพระผงสุพรรณทีเดียวว่ากันที่จริงแล้วพระเครื่องพิมพ์ยอดนิยมจากลานทุ่งเศรษฐี ที่เราเรียกกันว่าพระกำแพงซุ้มกอนี้ หาได้มีแต่พิมพ์เดียวไม่ เพราะทั้งขนาดและเนื้อก็ยังมีแตกต่างกันออกไปอีกมาก ฉะนั้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้ซึ้งถึงการแตกต่างของพระเครื่องพิมพ์นี้ได้โดยละเอียดยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงจะขอแยกกล่าวเป็นชนิด ๆ ดังต่อไปนี้

พระกำแพงซุ้มกอที่ขึ้นจากกรุลานทุ่ง ฯ ทั้งหมดนั้นจะแยกขนาดและพิมพ์ออกได้ถึง 5 ชนิดด้วยกันคือ
1. พระกำแพงซุ้มกอเนื้อผง ชนิดมีลายกนก(พิมพ์ใหญ่นิยมกันมาก)
2. พระกำแพงซุ้มกอเนื้อผง "พิมพ์ขนมเปี้ย”
3. พระกำแพงซุ้มกอเนื้อผง(ไม่ลายกนก)
4. พระกำแพงซุ้มกอเนื้อว่าน ชนิดนี้จะมีหน้าทอง-หน้าเงินประกบทับอีกชั้นหนึ่ง
5. พระกำแพงซุ้มกอเนื้อชินเงิน ทำเป็นชนิดมีลายกนกทั้งหมด

พระเครื่องพิมพ์ซุ้มกอทั้ง 5 ชนิดนี้ ยังจะแยกเป็นพิมพ์และขนาดออกไปได้อีดังจะขอกล่าวเป็นข้อ ๆ ไปเป็นลำดับดังนี้

1. พระซุ้มกอเนื้อผงชนิดมีลายกนก แบบมีลายกนกนี้ โดยเฉพาะเนื้อผงจะมีแต่สีแดง, และสีเหลือง, เท่านั้น ทั้งนี้ยังแยกแบบออกได้เป็น 3 พิมพ์คือ
พิมพ์ใหญ่ พระซุ้มกอพิมพ์นี้ด้านข้างจะหนา อย่างน้อยครึ่ง ซ.ม. ขึ้นไป พุทธลักษณะนับว่างดงามกว่าพระซุ้มกอทุกชนิด งามถึงขนาดเห็นหู, ตา, ปาก, จมูก และจะมีราคาเช่าแพงกว่าทุกพิมพ์อีกด้วย ข้อควรจำสำหรับพระพิมพ์ใหญ่นี้ก็คือ ซอกแขนทั้งสองข้างจะลึกมาก ด้านข้างจะถูกตัดด้วยเส้นตอก เหมือนกับด้านข้างพระนางพญา ส่วนด้านหลังสำหรับพระพิมพ์นี้จะต้องปรากฏเป็นลายกาบหมากอยู่ที่ด้านหลังไว้ทุกองค์ สำหรับขนาดจะมีประมาณ 1.7คูณ 2.5 ซ.ม.
พิมพ์กลาง พระซุ้มกอพิมพ์กลางนี้ ความหนาบางที่ปรากฏไม่ค่อยจะอยู่ในระดับมาตรฐาน แต่ถึงกระนั้นก็ควรจะหนาประมาณ 4 ม.ม. ขึ้นไป และพูดได้เลยว่า เป็นพิมพ์ที่ค่อนข้างจะหายากด้วย สำหรับความงามออกจะด้อยกว่าพิมพ์ใหญ่มากอยู่หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ หูตาปากจมูกตลอดจนชายสังฆาฏิจะเห็นเพียงราง ๆ เท่านั้น ทั้งซอกแขนก็จะตื้นมาก ส่วนด้านข้างจะถูกตัดด้วยคมตอกหรือปาดด้วยมีดก็มี แต่ด้านหลังจะเป็นมุมกลับกับพิมพ์ใหญ่คือ จะต้องมีลายมือปรากฏอยู่ หรือไม่ก็เป็นแบบปาดราบไปเลย พระพิมพ์นี้จะมีขนาดประมาณ 1.7 คูณ 2.3 ซ.ม.

พิมพ์เล็ก พระซุ้มกอพิมพ์เล็กนับว่าเป็นพระเครื่องที่ค่อนข้างมีมากกว่าทุก ๆ พิมพ์ทีเดียว ความหนาบางองค์พระก็จะไม่มาตรฐานอีกเช่นกัน ทั้งในด้านความงาม หรือขอบข้างหรือด้านหลัง ก็จะปรากฏ เช่นเดียวกับพระซุ้มกอพิมพ์กลางทุกอย่าง ขนาดวัดได้ประมาณ 1.5 คูณ 2.2 ซ.ม.
พิมพ์จิ๋ว พระซุ้มกอพิมพ์นี้ออกจะหาชมได้ยากมาก ทั้งของจริงก็ไม่งดงามด้วย ขณะนี้มีมากแต่ละองค์ก็สวยงามชัดเจนประมาณ 95% มักจะเป็นของปลอม พระพิมพ์จิ๋วนี้ส่วนมากมักจะเป็นของกรุวัดพิกุลองค์พระจะบางกว่าพิมพ์เล็กลงไปเล็กน้อย ส่วนด้านหลังจะมีลายมือปรากฏอยู่ประปราย ขนาดโดยประมาณวัดได้ 1.1 คูณ 1.4 ซ.ม. เท่านั้นเอง

2. พระซุ้มกอพิมพ์ขนมเปี้ย พิมพ์ขนมเปี้ยดังกล่าวนี้ เป็นพระซุ้มกออีกพิมพ์หนึ่งที่ให้แบบ คล้ายกับพระงบน้ำอ้อย แต่จะเล็กกว่า ลักษณะทำเป็นพิมพ์กลม ๆ ด้านหลังอูมนูนและมีลายมือปรากฏด้วย ส่วนด้านข้างจะโค้งทรงกลมโดยไม่มีรอยตัดเลย พระพิมพ์นี้ความจริงแล้วก็คือ พระซุ้มกอพิมพ์กลาง หรือ พิมพ์เล็ก นั่นเอง จะผิดกันก็ตรงที่มีปีกยื่นออกเป็นวงกลม นักเลงพระยุคโน้นเห็นพิมพ์ท่านอยู่ในลักษณะเช่นนั้นครั้นจะเรียกว่า ซุ้มกอพิมพ์งบน้ำอ้อย ฟัง ๆ ดูก็จะไปจ๊ะเอ๋กับพิมพ์จริง ๆ เข้า ทั้งยังเป็นพระเครื่องคนละสกุลกันอีกด้วย ดังนั้นจากความกลมของพระซุ้มกอพิมพ์นี้จึงได้ถูกเรียกกันต่อมา โดยไม่ซ้ำกับพิมพ์งบน้ำอ้อยว่า พิมพ์ขนมเปี้ย เพราะขนมเปี้ยนั้นเขาก็กลมอยู่แล้วเช่นกัน

พระซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปี้ย นี้ ได้แยกขนาดออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ

พิมพ์ใหญ่ พระพิมพ์ใหญ่ซุ้มกอขนมเปี้ยนี้ ความจริงก็คือ พระซุ้มกอพิมพ์กลางและพิมพ์ธรรมดา ๆ เรานี่เอง จะผิดก็ตรงที่มีปีกวงกลมแผ่ออกไป โดยจะมีพระลอยองค์ตรงกลางเท่านั้นเอง ขนาดพิมพ์ใหญ่นี้เส้นผ่าศูนย์กลางวัดได้ประมาณ 2.5 ซ.ม.

พิมพ์เล็ก สำหรับพระซุ้มกอขนมเปี้ยเล็กนี้ ค่อนข้างจะหายากสักหน่อย จะสังเกตองค์พระได้โดยจะเล็กกว่าพิมพ์ใหญ่ ส่วนปีกที่ยื่นออกเป็นทรงกลมนั้นจะไม่กลมทีเดียวทั้งขอบข้างบางองค์ก็จะเว้าแหว่งเป็นคลื่นด้วย ขนาดพระพิมพ์เล็กนี้เส้นผ่าศูนย์กลางวัดได้ประมาณ 1.7 ซ.ม. เท่านั้น

3. พระซุ้มกอดำ ถัดจากพระซุ้มกอพิมพ์ขนมเปี้ยผ่านไปแล้วคราวนี้ก็มาถึงเรื่องพิมพ์ซุ้มกอดำกันบ้าง พระพิมพ์นี้ พิมพ์ ค่อนข้างจะแหวกแนวไปมากอยู่แต่พุทธลักษณะของท่านจะเหมือนกับพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ชนิดที่มีลายกนกทุกอย่าง จะผิดก็แต่ตัดกนกด้านข้าง กับบัวเล็บช้างใต้ฐานประทับออกจนหมด พระซุ้มกอดำ จึงมีแต่พระประทับนั่งปางสมาธิบนฐานเชียง โดยมีปีกโค้งเว้า รองรับไว้กับมีประภามณฑลล้อมรอบพระเศียรไว้ด้วยพระพักตร์ค่อนข้างป้อม พระอุระจะผึ่งผายเข้มข้นกว่าพิมพ์นิยมชนิดมีลายกนกเอามากทีเดียว

ด้วยเหตุนี้เองเราจึงต้องยกให้ พระซุ้มกอดำ นี้ เป็นพระเครื่องศิลปะ วัดตระกวน ซึ่งเป็นยอดศิลปะชั้นหนึ่งของสมัยสุโขทัยยุคต้น และก็เลยทำให้ผู้เขียนได้คิดไปอีกว่า พระซุ้มกอดำ พิมพ์นี้ น่าจะเป็นพระซุ้มกอพิมพ์ปฐมฤกษ์ที่กำเนิดขึ้นก่อนพระซุ้มกอชนิดที่มีลายกนกเสียมากกว่า เพราะต่อเมื่อภายหลังขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของสุโขทัยได้รุ่งโรจน์ขึ้นแล้ว ก็ย่อมเป็นของธรรมดาที่ ศิลปะจะต้องได้รับการพัฒนาให้อลังการยิ่งขึ้นไปด้วยเช่นกัน ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระซุ้มกอชนิดที่มีลายกนกด้านข้างนั้น ที่จริงแล้วอาจเป็นพระเครื่องที่ช่างให้การพัฒนามาจาก พระซุ้มกอดำ นั่นเอง

และการที่เรียกว่า พระซุ้มกอดำ นั้น ก็เพราะเมื่อก่อนไม่ว่าจะขุดพระพิมพ์นี้ได้จากกรุใดในลานทุ่งเศรษฐีก็ตาม พระทุกองค์มักจะมีสีดำ ไปหมดพระซุ้มกอพิมพ์นี้จึงถูกขนานนามว่า พระซุ้มกอดำ โดยถือเอาสีมาเรียกเป็นชื่อตั้งแต่นั้นมา

เป็นที่รู้กันว่ากรุกำเนิดของพระซุ้มกอดำ และพระซุ้มกอชนิดที่มีลายกนกมากแบบนั้น ต่างก็ขึ้นจากกรุ วัดพระบรมธาตุ เป็นปฐมฤกษ์ด้วยกันทั้งนั้น พระซุ้มกอดำ ที่จัดว่างามผึ่งผายและเป็นที่นิยมกันมาก ก็เห็นจะได้กับพระซุ้มกอดำของ กรุวัดพิกุล ภายหลังต่อมาก็ได้มีผู้พบพระซุ้มกอดำพิมพ์นี้อีกที่กรุตาพุ่ม และ กรุวัดน้อย แต่ก็ได้เพียง 10 กว่าองค์เท่านั้น โดยองค์พระจะเล็กกว่าของกรุวัดพิกุล ทั้งเนื้อก็จะออกสีดำอมน้ำตาลเป็นส่วนมากด้วย

ออกจะหย่อนงามไปบ้างสำหรับพระซุ้มกอดำ แต่ในด้านศิลปะแล้วย่อมเหนือกว่าพระซุ้มกอชนิดมีลายกนกมากอยู่ พระพิมพ์นี้มีด้วยกัน 2 ขนาดคือ พิมพ์ใหญ่ และ พิมพ์เล็ก ที่ว่าเล็กนั้นจะผิดกันไปบ้างก็ไม่มากนัก หากจะมีการประกวดพระซุ้มกอดำกันขึ้นบ้างละก้อ ขนาดอาจไม่สำคัญ ความงามเท่านั้นควรเป็นเป้าหมายในการให้คะแนน เพราะพระซุ้มกอดำนี้ ปัจจุบันจะมีปรากฏอยู่ก็เพียงไม่กี่องค์เท่านั้นเอง

แต่ก็น่าแปลกใจอยู่ ด้วยมีผู้พบพระซุ้มกอดำชนิดที่มี ประภามณฑลซ้อนเป็นเส้นคู่ วิ่งรายล้อมองค์พระลงมาถึงหน้าตักของท่านก็มี และไม่แต่เท่านั้น เมื่อปลายปี พ.ศ. 2511 ก็ยังเคยมีผู้พบพระซุ้มกอดำที่มีเนื้อเป็นสีแดงก็มีอีกด้วยเช่นกัน

4. พระซุ้มกอเนื้อว่าน พระซุ้มกอชนิดเนื้อว่าน จัดเป็นพระเครื่องทุ่งเศรษฐีที่อยู่ในอันดับ ยอดหายาก อีกพิมพ์หนึ่งเนื้อเท่าที่ปรากฏจะคล้ายกับพิมพ์ฝักดาบ พิมพ์เม็ดขนุน, คือใช้ว่านมากชนิดรวมทั้งผงเกสรตำรวมกันแล้วอัดลงแน่พิมพ์อีกทอดหนึ่งเรื่องพระเนื้อว่านนี้ พระบางพิมพ์ของกรุทุ่งเศรษฐียังเคยปรากฏพบเนื้อที่เป็นแผ่นว่านล้วน ๆ กดลงแม่พิมพ์เป็นองค์พระก็มี

พระซุ้มกอที่เป็นชนิดเนื้อว่านนี้ปัจจุบันนี้เราจะพบก็แต่หน้าทองหรือเงินประกบไว้กับว่านอีกชั้นหนึ่งเท่านั้น เพราะเกือบ 80% พระทุ่งเศรษฐีเนื้อนี้มักจะกะเทาะกร่อนแตกหมด เรื่องพระซุ้มกอชนิดเนื้อว่านดังกล่าวนี้ (มีผู้ทำปลอมกันไว้มาก โดยเนื้อจะอยู่ในสภาพที่ดีเกินไป) นอกจากจะมีทำเป็นพิมพ์ประกบด้วยแผ่นทองคำ หรือแผ่นเงินปิดหน้าไว้แล้วชนิดที่เป็นว่านล้วน ๆ โดยไม่ประกบหน้าอะไรไว้เลยก็มี

เราจะพบกับพระเนื้อว่านซึ่งมีเฉพาะพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ชนิดมีลายกนกกับพิมพ์กลางเท่านั้น และก็ยังไม่เคยมีผู้ใดได้พบจากกรุอื่น ๆ ในภายหลังอีกเลย นอกจากกรุวัดพระบรมธาตุ ซึ่งได้แตกกรุออกมาเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2392 เท่านั้นเอง

5. พระซุ้มกอเนื้อชิน พระซุ้มกอชนิดเนื้อชินดังกล่าวนี้ นับเป็นพระอีกพิมพ์หนึ่งที่หายากกว่าชนิดเนื้อผงเสียอีก ความแตกต่างของพระซุ้มกอชนิดเนื้อชินเงินนี้ ยังแยกพิมพ์ออกได้เป็น 3 ขนาดดังนี้

พิมพ์ใหญ่ ความงามจะลึกคมพอ ๆ กับพระซุ้มกอชนิดเนื้อผงทีเดียว ทั้งนี้แม้แต่ขนาดก็จะเท่ากันด้วย แต่ด้านหลังแทนที่จะเป็นลายกาบหมาก กลับเป็นลายผ้าเหมือนพระเนื้อชินทั่ว ๆ ไป

พิมพ์กลาง ดูกันในด้านความงามแล้ว พระซุ้มกอชนิดเนื้อชินพิมพ์นี้ จะงามกว่าชนิดเนื้อผงพิมพ์กลางมาก แต่ความตื้นและขนาดยังคงเท่ากัน ส่วนด้านหลังจะเป็นลายผ้าและต้นปาดราบก็มี

พิมพ์เล็ก ในด้านความงามสำหรับพิมพ์นี้จะดีกว่าชนิดเนื้อผง แต่ขนาดจะเท่ากัน นอกจากนั้นทุก ๆ อย่างของพระซุ้มกอชนิดเนื้อชินพิมพ์เล็กนี้ จะมีเหมือนกับพระซุ้มกอเนื้อชินพิมพ์กลางทุกอย่าง

เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี

จากความยิ่งใหญ่ของพระกำแพงซุ้มกอนี้เอง บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมพระเครื่องพิมพ์นี้ จึงไดรับเกียรติยกย่องให้อยู่ในอันดับ เหนือกว่าพระทุ่งเศรษฐีที่ขึ้นจากเมืองกำแพงเพชรทั้งปวง แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็ยังถึงกับขนานนามว่า พระซุ้มกอ พิมพ์นี้ว่า เจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐี ที่เป็นเช่นนี้มิใช่ว่า พระซุ้มกอ จะเป็นพระเครื่องที่งามเพียบพร้อมทั้งพิมพ์และเนื้อก็หาไม่ แต่พระพุทธคุณของพระซุ้มกอนี่ซิ คือหัวใจของความยิงใหญ่ที่ทำให้พระเครื่องพิมพ์นี้ ได้เป็นพระยอดนิยมอันดับ 1 อยู่ในอาณาจักรพระเครื่องมาจนปัจจุบันนี้

พระกำแพงซุ้มกอเกรียงไกรขนาดไหนนั้น ผมจะพาท่านไปพบกับ คุณสมาน เรืองศรีสุทธิ ซึ่งเป็นผู้ได้ประสบการณ์กับยอดพระเครื่องพิมพ์นี้มากับตัวเองแล้ว ด้วยความประหลาดใจยิ่ง

คุณสมานได้เล่าให้กับผู้เขียนฟังว่า เมื่อก่อนนั้นเขาเป็นชาวสวนอยู่นนทบุรี วันหนึ่งขณะที่ขนผลไม้ขึ้นไปขายที่จังหวัด ก็ได้มีชายสูงอายุผู้หนึ่งถือพระเครื่องเดินตรงเข้ามาหาเขาพร้อมทั้งวิงวอนขอให้เช่าพระองค์นั้นไว้ด้วย โดยจะขอรับเงินเพียง 70 บาท เพื่อเป็นทุนกลับไปบ้านลูกที่อยุธยาเท่านั้นเอง คุณสมานได้ฟังก็สงสารจึงรับพระนั้นไว้ แล้วก็ได้พกติดตัวเรื่อยมา จนกระทั่งเหตุการณ์ได้ผ่านเลยไปประมาณเดือนเศษ ก็มีเรื่องปาฎิหาริย์เกิดขึ้นกับเขาเข้าอย่างไม่คาดฝัน

เรื่องก็มีอยู่ว่าวันหนึ่งขณะที่เขากับลูกจ้างกำลังขนส้มจะนำ ลงเรือไปขายอยู่นั้นคุณสมานเป็นคนนำหน้า เขาแบกกระบุงใส่ส้มลงไปที่บันไดท่าน้ำ เพื่อจะถ่ายลงเรืออีกทอดหนึ่งนั้น ก็พอดีได้ยินเสียงภรรยาเรียกด่วน เขาจึงรีบวางกระบุงส้มไว้ที่บันได แล้วบอกให้ลูกจ้างอีกคนขนส้มแทนต่อไป

ขณะที่เขากำลังหันกลับไปหาภรรยานั้นเองก็ได้ยินเสียง โครมใหญ่ดังขึ้นที่เบื้องหลังเขา เมื่อเหลียวไปดูก็ปรากฏว่าบันไดท่าน้ำซึ่งผุกร่อนอยู่แล้วนั้น ได้เกิดพังโครมลงไป ซึ่งขณะนั้นลูกจ้างของเขากำลังแบกกระบุงส้มอยู่บนสะพาน พอดีลูกจ้างคนนั้นได้ล้มลงหัวไปฟาดกับตอไม้ข้างตะหลิ่งเข้าอย่างแรงจนถึงกับหัวแตกสลบไป และต่อมาลูกจ้างคนนั้นก็ไปตายที่โรงพยาบาลในที่สุด

นั่นเป็นเรื่องแคล้วคลาดที่องค์พระซุ้มกอได้ช่วยคุณสมานไว้อย่างปฏิหาริย์ยิ่ง

พระซุ้มกอ หรือเจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐีเป็นยอดพระเครื่องอันดับนำของจังหวัดกำแพงเพชรที่ใครได้ไว้บูชาติดตัวแล้ว นับว่าเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง เพชรนพเก้าค่าล้นปานใดก็ตาม บางครั้งก็หาเปรียบได้กับ พระซุ้มกอ ซึ่งสูงทั้งค่าและมีประสิทธิภาพซึ่งมนุษย์ไม่อาจเนรมิตได้ การมีชีวิตเพื่ออยู่และสร้างแต่กรรมดีแล้ว พระซุ้มกอ ย่อมคุ้มครองท่านได้เสมอ และสิ่งที่น่าอิจฉาสำหรับผู้มีพระพิมพ์นี้ยิ่งขึ้นก็คือ ท่านจะอยู่อย่างคนมีโชคตลอดเวลาทีเดียว

ผู้เขียนเชื่อว่า มึงมีกูไม่จน ประกาศิตที่กังวานจากเจ้าพ่อแห่งลานทุ่งเศรษฐีนั้นจะเป็นใครกล่าวหรือใครพูดขึ้นเล่นก็ตามทีเถิด เพราะจนบัดนี้ ผู้ที่ใช้ พระซุ้มกอ แล้วก็ยังไม่เคยมีใคร บอกว่าห้อยพระซุ้มกอแล้ว ยากจน เลยสักรายเดียว

ในอาณาจักรของพระเครื่องซึ่งเป็นศูนย์รวมของขลังมากแบบมากชนิดนั้น ดูเหมือนว่าพระเครื่องทั้งหมดจากอาณาจักรนั้น พระกำแพง เชยคางข้างเม็ด นับว่าได้รับการขนานนามไว้อย่างไพเราะเพราะพริ้งที่สุด และนั่นก็หมายถึง พระกำแพงลีลาทุ่งเศรษฐีอีกพิมพ์หนึ่ง ที่มีความพิสดารและครองความยิ่งใหญ่ไว้อันเป็นเรื่องที่น่าศึกษายิ่ง....

โดยอาจารย์ ประชุม กาญจนวัฒน์

#พระ ซุ้ม กอ กรุ ทุ่ง เศรษฐี ราคา
#พระซุ้มกอปลอม
#พระซุ้มกอราคาแพงที่สุด
#วิธีทดสอบพระซุ้มกอ
#พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่องค์แชมป์
#พระซุ้มกอพิมพ์กลาง ท่าพระจันทร์
#พระซุ้มกอมีกี่กรุ
#พระซุ้มกอกรุต่างๆ

 
Posted : 19/10/2021 8:15 pm
Share: