ติดเครื่องปั่นไฟบนตู้คอนเทนเนอร์ รักษาความเย็นส่งทุเรียนจันทบุรีไปจีน

ข่าวล่าสุด

จันทบุรี -ไอเดียเก๋ ผู้ประกอบการขนส่งผลไม้จันทบุรี งัดเทคนิคติดตั้งเครื่องปั่นไฟบนตู้คอนเทนเนอร์ หวังรักษาความเย็นในผลไม้จนถึงปลายทาง แก้ปัญหาสินค้าเสียหายหลังจีนปิดด่านชายแดนบ่อย เผยติดตั้งได้แล้วกว่า 100 ตู้ รับจีนเปิดด่านโม่ฮาน ตั้งแต่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา

วันนี้ (18 เม.ย.) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์ส่งออกทุเรียนไทย ไปต่างประเทศ หลังจีนได้เปิดให้ด่านชายแดนโม่ฮาน สามารถนำเข้าทุเรียนจากไทยได้ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา

หลังก่อนหน้านี้ทางการจีนได้ประกาศระงับนำเข้าทุเรียนไทยเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 12-14 เม.ย.2565 จากสาเหตุการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกทุเรียนจาก จ.จันทบุรี ไปยังด่านชายแดนโม่ฮาน

จนทำให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ต้องสั่งการให้ผู้ประกอบการในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน

 

พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการคัดแยกบรรจุทุเรียนในล้งส่งออกผลไม้กว่า 200 แห่งใน จ.จันทบุรี เพื่อยกระดับมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ตามนโยบายจันทบุรีโมเดล โดยกำหนดให้วันที่ 22 เม.ย.นี้เป็นวันทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในล้งผลไม้ส่งออกในพื้นที่

รวมทั้งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ให้แรงงานทุกคนเพื่อเป็นมาตรฐานให้ล้งส่งออกผลไม้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ

นายอลงกรณ์ ยังเผยอีกว่า ในช่วงกลางสัปดาห์หน้าจะมีการส่งออกทุเรียนอีกหนึ่งล็อตโดยใช้เส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว ด้วยการขนส่งแบบผสมคือ ระบบรางและรถ หลังประสบความสำเร็จจากการทดสอบขนส่งทุเรียน จำนวน 2 ตู้ และมะพร้าว 1 ตู้คอนเทนเนอร์ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

“การส่งออกทางรถไฟในล็อตที่แล้วภาคเอกชนได้จัดทำตู้คอนเทนเนอร์ในลักษณะพิเศษเพื่อรองรับการขนส่งผลไม้ไปยังประเทศจีน โดยได้ติดตั้งเครื่องปั่นไฟกับตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้สามารถรักษาความเย็นได้ตลอดเวลาการขนส่งซึ่งจะสามารถใช้ได้ทั้งทางเรือ ทางบก และทางรถไฟ โดยเฉพาะขบวนรถไฟเส้นทางด่านชายแดนผิงเสียง (เวียดนาม-จีน) ซึ่งหากใช้ตู้คอนเทนเนอร์ลักษณะนี้จะช่วยลดความเสียหายของสินค้าได้”

 

โดยนายอลงกรณ์ ยืนยันว่า ขณะนี้ทางการจีนได้อนุญาตให้ขบวนรถไฟของจีนรับตู้คอนเทนเนอร์จากไทยที่มีการติดตั้งเครื่องปั่นไฟแล้วเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการได้ใช้เวลาในการคิดค้นเทคนิคดังกล่าวนานถึง 1 ปี จนขณะนี้สามารถติดตั้งเครื่องปั่นไฟกับตู้คอนเทนเนอร์ได้แล้วกว่า 100 ตู้

จากจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่จะต้องขนทุเรียนไปจีนรวมทั้งสิ้นกว่า 200 ตู้ โดยแต่ละตู้คอนเทนเนอร์จะสามารถบรรจุทุเรียนส่งออกได้มากถึงตู้ละ 900 กล่อง

“นโยบายยกระดับการป้องกันการปนเปื้อนโควิด-19 ในทุเรียนโดยเฉพาะผลไม้ในภาคตะวันออกที่กำลังจะออกมาอีกเป็นจำนวนมากสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดปลายทางจนจีนยอมเปิดด่านชายแดนให้เราอีกครั้ง และในวันที่ 22 เม.ย.นี้ ทางกระทรวง และสมาคมทุเรียน สมาคมผลไม้ในภาคตะวันออก จะร่วมกันจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งล้งส่งออกผลไม้อีกกว่า 200 แห่ง เพื่อยกระดับมาตรการความปลอดภัยทั้งของพนักงาน และป้องกันการปนเปื้อนโควิด-19 ที่อาจติดไปกับกล่อง ผลทุเรียน หรือแม้แต่รถบรรทุกสินค้า”

ส่วนความพยายามในการแก้ไขปัญหาราคาทุเรียนตกต่ำนั้น ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งหาแนวทางผลักดันให้ราคาทุเรียนส่งออกกลับมาอยู่ที่ระดับ 100 บาทต่อกิโลกรัมให้ได้เช่นเดียวกับปีก่อน แม้จะต้องเจอปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศจีน ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าส่งและปลีก รวมถึงการขนส่ง เพื่อสร้างความพอใจให้ชาวสวนให้ได้มากที่สุด

“แต่เนื่องจากในปีนี้จีนเจอปัญหาการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2564 จึงทำให้จีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในการส่งออกของไทยเข้มงวดเรื่องการขนส่งสินค้าเข้าประเทศ และผลจากการล็อกดาวน์พื้นที่กว่า 500 เขต จึงทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น เราเองต้องสร้างมาตรฐานสินค้าตั้งแต่ต้นทางด้วยการป้องกันการปนเปื้อนโควิด-19 จากการขนส่งให้ได้มากที่สุด” นายอลงกรณ์ กล่าว

อ้างอิง
https://m.mgronline.com